📚 เกร็ดความรู้คู่แรงงาน ตอนที่ 36
ลูกจ้างลางานไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการ โดยไม่ได้ทำบันทึกแจ้งขออนุญาตกับนายจ้าง แต่กลับใช้สิทธิลาป่วย ลากิจเพื่อไปสอบคัดเลือก การที่ลูกจ้างอ้างเหตุผลในการลาป่วย ลากิจไม่ตรงตามธุระที่ลูกจ้างไปกระทำ ถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ ?
⚖ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8483/2559
การที่ลูกจ้างลางานไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการโดยไม่ทำบันทึกแจ้งขออนุญาตนายจ้าง และใช้สิทธิลาป่วย ลากิจไปโดยอ้างเหตุไม่ตรงกับธุระที่ลูกจ้างไปกระทำ เป็นเรื่องที่ลูกจ้างต้องการใช้สิทธิลาไปทำธุระส่วนตัวมากกว่าคิดจะทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ประกอบกับขณะนั้นลูกจ้างไม่อาจคาดหมายว่าจะสอบคัดเลือกได้หรือไม่ เช่นนี้ ไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างจงใจหรือเจตนาโดยประสงค์ให้นายจ้างได้รับความเสียหาย แม้ลูกจ้างจะมีความผิดอยู่บ้างในเรื่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องบันทึกขออนุญาตไปสอบบรรจุข้าราชการ และแจ้งเหตุลาป่วย ลากิจไม่ตรงความจริง
แต่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างอาจลงโทษได้แต่ยังไม่สมควรที่จะเลิกจ้าง เมื่อนายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
📚 เกร็ดความรู้คู่แรงงาน ตอนที่ 34
ข้อตกลงระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างระบุไว้ว่า “หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง” ข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงหรือไม่
⚖ คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเพศหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มสัญญาหากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งสัญญาได้ระบุว่า
“ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่นายจ้างกำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องจึงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก ของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ”
ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ที่กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างได้กระทำการผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับคำสั่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ กรณีร้ายแรงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่า ลูกจ้างตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างมีครรภ์ อันขัดต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
#กสร #กสรคุ้มครองสิทธิพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน