กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงกรณีลูกจ้างที่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19 นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างตรวจหาเชื้อได้ ถือเป็นเหตุอันสมควร แต่หากจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนี้ ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดจำนวนลง ด้วยความห่วงใยของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความต้องการให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิต และสุขภาพอนามัยที่ดี จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสร้างความเข้าใจต่อนายจ้างและลูกจ้างให้ทราบว่า หากนายจ้างมีข้อสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ COVID–19 ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ฉะนั้น คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 เกี่ยวกับการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น
อธิบดี กสร. กล่าวทิ้งท้ายว่า หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อไวรัส COVID-19ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือหากสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
📚 เกร็ดความรู้คู่แรงงาน ตอนที่ 38
นายจ้างมีระเบียบที่จะชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนลูกจ้าง ต่อมาลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้าง และในขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็ได้มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากลูกจ้างโดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในช่วงที่ยังเป็นพนักงานของนายจ้างอยู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ลูกจ้างยังมีสิทธิที่นายจ้างจะจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนหรือไม่ ?
⚖ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 39/2564
เมื่อนายจ้างมีระเบียบและข้อบังคับที่จะชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนพนักงานทุกคน โดยไม่มีการหักเงินเดือนพนักงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีลักษณะเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงานทุกคน ไม่มีการเลือกปฏิบัติแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อเงินได้ที่นายจ้างรับรองและนำส่งเพื่อคำนวณเป็นภาษีที่ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีประจำปี เป็นเงินที่เกิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างยังมีสถานะเป็นพนักงานของนายจ้างอยู่ ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับสวัสดิการอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรเรียกเก็บเพิ่มจากลูกจ้าง
#กสร #กสรคุ้มครองสิทธิพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
ทำข้อสัญญาไว้ชัดเจนว่าหากลาออกไม่ถูกต้องให้หักค่าจ้างได้ นายจ้างจะหักค่าจ้างโดยอ้างสัญญาได้หรือไม่ ?
ในการทำสัญญาจ้างแรงงานอาจมีการตกลงกันหลายข้อ และหากพนักงานหรือลูกจ้างผิดสัญญาก็ยินยอมให้บริษัทนายจ้างหักค่าจ้างได้ เช่น ยินยอมในการหัก ค่าจ้างได้หากมีการละทิ้งหน้าที่ทำให้บริษัทเสียหายหรือ พนักงานลางานไม่แจ้ง หรือลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออกก่อน 1 เดือน หรือ 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง
เช่นนี้ เมื่อพนักงานทำผิดสัญญา หรือโดยเฉพาะลาออกโดยไม่แจ้งก่อน 1 เดือนหรือ 30 วัน เช่นทำงานมาแล้ว 15 วัน จากนั้นยื่นใบลาออกในวันที่ 16 แล้วลาออกไปทันที หรือยื่นใบลาวันที่ 16 อีก 5 วันจึงออกจากงานไป
ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการลาออกไม่เป็นไปตามสัญญา บริษัทนายจ้างจึงหักค่าจ้าง
ต้องเข้าใจหลักกฎหมายก่อนว่า มาตรา 76 ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด
ดังนั้น จะเขียนสัญญาว่าหากผิดสัญญาจึงหักค่าจ้างได้ อันจะถือว่าลูกจ้างยินยอมตกลงให้หักค่าจ้างก็หักไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1458/2548)
ทั้งนี้เพราะการทำความตกลงที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (มาตรา 76) เท่ากับว่าเป็นการทำข้อตกลงให้ "ขัด" หรือ "แย้ง" กับกฎหมาย ข้อตกลงหักค่าจ้างจึงเป็นโมฆะ และมีความผิดอาญา
เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างมาทำงานมีสิทธิได้ค่าจ้าง เพราะสัญญาจ้างแรงงานเมื่อฝ่ายหนึ่งเอาแรงงานมาให้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องจ่ายเงินตอบแทนแรงงาน
การลาออกไม่เป็นไปตามสัญญา หากบริษัทนายจ้างเสียหาย ก็ฟ้องร้องได้ แต่สำคัญคือ "ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียหายอะไร"
จะคาดการณ์ หรือคิดเอาเองไม่ได้ เช่น ความเสียหายที่ว่าผลการดำเนินทางธุรกิจจะลดลง หรือการขาดพนักงานจึงทำให้คนจ้างน้อยลงเช่นนี้ไม่ใช่ความเสียหายที่แจ้งจริง ที่มองเห็นและพิสูจน์อันเป็นผลจากการลาออก
Facebook : กฎหมายแรงงาน