นายจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด 19 และในบางกรณีทางการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ปิดกิจการลง จนต้องปิดกิจการลงชั่วคราวในชั้นต้น ...
อาจจะยังไม่ถืออว่านายจ้างได้ "เลิกจ้าง" ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะนายจ้างมิได้มีเจตนาที่จะมิให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอย่างถาวร สิทธิได้รับค่าชดเชย จากนายจ้างอาจจะยังไม่เกิดขึ้น
แต่เมื่อทางการให้นายจ้างได้ให้นายจ้างเปิดใช้สถานที่ เปิดกิจการได้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศไทยลดลงหรือแทบจะไม่มี
นายจ้างจะต้องเปิดกิจการเรียกลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามสัญญา
หากนายจ้างไม่ได้เปิดกิจการให้ลูกจ้างได้ทำงานโดยถือโอกาสปิดกิจการถาวร แม้จะอ้างผลกระทบจากโควิด 19 ไม่มีลูกค้าหรือมีน้อยลง ออเดอร์ไม่มี หรือมีน้อยลง จำเป็นต้องปิดกิจการ ไม่มีเงินรายได้นำมาจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง
เช่นนี้ ก็ถือว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างมาทำงาน สิทธิเรียกค่าชดเชย ก็ย่อมเกิดขึ้น เทียบฎีกาที่ 9948-10129/2539
ส่วนลูกจ้างจะไม่เรียกร้องเพราะสงสารนายจ้างที่ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย แต่จะไปเรียกร้องเอาเงินว่างงาน 70% ระยะเวลา 200 วัน จากประกันสังคม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
FB : Narongrit Wannaso
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ของการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในไทย ตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" โดยมีสาระสำคัญ ให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานดังกล่าว แก่ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้าง ต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการ ได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกตัวหรือเฝ้าระวัง การระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้แล้ว โดยขอย้ำให้ ลูกจ้างผู้ประกันตน กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7 สามารถ download แบบได้ที่ www.sso.go.th) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องแล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส 2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียน เพื่อใช้ระบบก่อน) เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือข้อมูลดังกล่าวข้างต้นในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือทางไปรษณีย์(ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th
หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อ ที่สำนักงานประกันสังคม อีกทั้งลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย หากนายจ้าง และผู้ประกันตน มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
-------------------------------
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
การระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ กับค่าทดแทนการว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด 19 ตามกฎกระทรวงฉบับใหม่
สรุปสั้นๆ ว่า หากลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานเพราะต้องถูกกักตัว/เฝ้าระวังโรค หรือเพราะทางการสั่งปิดสถานที่ สถานประกอบการชั่วคราวเพื่อป้องกันโรค เท่านั้น
ถ้านายจ้างปิดกิจการหรือสถานที่ชั่วคราวมาจากเหตุอื่นๆ นอกจากนี้
จะไม่เข้ากฎกระทรวงนี้ โดยในระหว่างที่ไม่ได้ทำงานหรือหยุดกิจการ ลูกจ้างจึงไม่ได้รับค่าจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินทดแทนว่างงานจากประกันสังคม 50% ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่หยุดงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน
โดยมีสิทธิยื่นขอย้อนไปตั้งแต่ 19 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป
การยื่นคำขอรับเงินของลูกจ้างและ การออกหนังสือรับรองของนายจ้าง ก็ยื่นทางอีเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม
ข้อสังเกตุ
1. กฎกระทรวงฉบับใหม่ กรณีนายจ้างหยุดกิจการเนื่องจากทางราชการสั่งปิดชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเท่านั้น ฉะนั้น หากนายจ้างปิดกิจการเอง เพราะเหตุผลทางธุรกิจ ค้าขายไม่ดี ไม่มีลูกค้า รายได้ลดลง ขาดทุด แม้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาจากโควิดระบาด ก็ไม่ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิขอเงินทดแทนว่างงานตามกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ได้ ต่างจากกฎกระทรวงฉบับเดิมที่ลูกจ้างอาจจะมีสิทธิ
2. กฎกระทรวงใหม่ กำหนดอัตราเงินทดแทน 50% แต่กฎกระทรวงเดิม 62% ของค่าจ้าง แต่ทั้ง 2 กฎกระทรวงขอได้ไม่เกิน 90 วัน
3. ระยะเวลา ลูกจ้างที่เข้าเกณฑ์ยื่นขอย้อนหลังได้ตั้งแต่ 19 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดเวลาได้สิทธิไม่เกิน 90 วัน แต่กฎกระทรวงเดิมจำกัดเหตุในการยื่นขอรับสิทธิไว้ตั้งแต่ 1.มี.ค.ถึง 31 ส.ค.2563 เท่านั้น
FB : Narongrit Wannaso