ลูกจ้างลาออกกระทันหัน & เงินประกันที่นายจ้างต้องคืนแก่ลูกจ้าง ?
ลูกจ้างลาออกกระทันหัน หรือยื่นใบลาออกแล้วหายไปไม่มาทำงานอีกเลย (เพราะได้งานใหม่ หรือไปเรียนต่อ หรือประกอบอาชีพอิสระ )
ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ม.17 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ) และผิดระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง และอาจเป็นการทำผิดสัญญาจ้างหากมีข้อตกลงให้ลูกจ้างจะลาออกต้องบอกล่วงหน้าก่อน
กรณีเช่นนี้ หากเกิดความเสียหายแก่นายจ้างๆ ก็เรียกร้องค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ แต่ถ้าไม่เกิดความเสียหาย ลูกจ้างก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้นายจ้าง
(แต่ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกต่อนายจ้างแล้ว นายจ้างให้อนุญาตหรือออกทันที เช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าลูกจ้างทำผิดระเบียบ หรือผิดสัญญา ลูกจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพราะถือว่ามีข้อตกลงกันใหม่ให้ลูกจ้างลาออกไปทันที)
ส่วนหลักประกันหรือเงินประกันความเสียหายจากการทำงานที่นายจ้างเรียกหรือรับไปจากลูกจ้างที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างตาม ม.10 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ประกอบประกาศกระทรวงแรงงานฯปี 2551ที่ให้เรียกได้ 60 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน นายจ้างจะต้องคืนให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก
ประเด็นคือ นายจ้างจะเอาเงินประกันที่เรียกรับไว้มาหักกับค่าเสียหายที่เกิดจากลูกจ้างลาออกกระทันหันได้ หรือไม่ ?
อันนี้ ต้องพิจารณาว่า การลาออกกระทันหัน เกิดความเสียหาย (เป็นตัวเงินหรือคิดคำนวณเป็นเงิน) ต่อนายจ้างหรือไม่
ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีความเสียหาย จะมาหักจากเงินประกันความเสียหายจากการทำงานของลูกจ้างไม่ได้ (ไม่มีหนี้เงินที่จะมาหักกลบลบกันกับเงินประกัน)
แต่ถ้าเกิดความเสียหาย ก็ต้องดูความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวนเท่าใด ลูกจ้างมีข้อโต้แย้ง จำนวนเงินค่าเสียหายหรือไม่ ถ้าไม่ยินยอมหรือมีข้อโต้แย้งว่าไม่เสียหาย นายจ้างก็จะนำมาหักไม่ได้ นายจ้างต้องคืนเงินประกันให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน ถ้าไม่คืนต้องเสียดอกเบี้ย 15 % และอาจมีโทษทางอาญาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ส่วนความเสียหายหรือค่าเสียหายจากการลาออกไม่ถูกต้องของลูกจ้าง นายจ้างต้องไปฟ้อง เเละนำสืบพยานพิสุจน์ให้ศาลเห็นว่าเกิดความเสียหาย ศาลจึงจะพิพากษาให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้าง
ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่เกิดความเสียหาย ศาลจะยกฟ้อง
Facebook : Narongrit Wannaso
คำถามจาก Hr ...
" อยากจะสอบถามเกี่ยวกับเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปี ปกติรอบตัดวันลาพักร้อนจะอยู่ที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ของทุกๆปี เราจะสามารถกำหนดได้มั้ยว่าพนักงานที่เข้ามาในช่วงเดือน พ.ย-ธ.ค. ถ้าทำงานครบปีแล้วจะได้วันลาพักร้อน 2 วัน (โดยแบ่งตามอัตราส่วน)
เช่น พนักงานเริ่มเข้าทำงาน 15 พ.ย. 64 ซึ่งจะครบ 1 ปี ในวันที่ 15 พ.ย. 65 ถ้าว่าหากเรากำหนดให้ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 65 - 31 ธ.ค. 65 ให้พนักงานมีสิทธิวันลาพักร้อน 2 วัน แล้วพอเริ่มปี 1 ม.ค. 2566 ก็จะมี 6 วันปกติ แบบนี้สามารถทำได้มั้ย"
คำตอบ ...
ในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปี (หรือที่ชอบเรียกกันว่าลาพักร้อน) นั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหยุดอย่างน้อยปีละ 6 วัน แต่หากลูกจ้างทำงานยังไม่ครบ 1 ปี ก็จะยังไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี
คำว่า "ครบ 1 ปี" จะต้องดูว่าเข้ามาทำงานวันไหน จากคำถามหากเข้าทำงานในวันที่ 15 พ.ย. 64 จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้ก็ต้องทำงานถึงวันที่ 16 พ.ย. 65 เสียก่อน
ซึ่ง Hr ก็จะต้องจำให้ได้ว่าใครเข้าทำงานวันไหน และหากมีลูกจ้างจำนวนมากก็ไม่ง่าย
จากคำถามที่ว่าใครที่เข้ามาระหว่างปี ขอให้หยุดตามสัดส่วนตามที่หยุดในปีที่ผ่านมาได้หรือไม่นั้น กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุดตามสัดส่วนได้ ทั้งนี้ เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์กับฝ่ายลูกจ้างมากกว่า คือไม่ต้องรอครบปี ก็เริ่มมีสิทธิหยุดได้เลยตามสัดส่วนของปีนี้ และปีต่อไปก็ไม่ต้องรอครบปีเช่นกัน
หากนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน นั่นหมายความว่าหากกำหนดเป็นสัดส่วน เช่น มาทำงาน 4 เดือน วิธีคำนวณคือ เอาจำนวนเดือน หาร 12 เดือน คูณจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีบางที่อาจกำหนดตามกฎหมายคือ 6 วัน บางที่อาจกำหนดมากกว่านั้นก็นำมาเป็นตัวคูณ เช่น 4 ÷ 12 x 6 จะได้ 2 วัน
พอวันที่ 1 มกราคมปีใหม่ ก็ตั้งต้นเริ่มให้หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วันได้เลย ฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างก็ทำงานง่าย โดยเมื่อเริ่มปีใหม่ก็อาจกำหนดสัดส่วนว่าทำงาน 2 เดือนหยุดได้ 1 วันก็ได้
มีคำถามต่อไปว่า ถ้าคนที่เข้ามาระหว่างปีซึ่งใช้วันหยุดไปแล้วและลาออกไปจะต้องทำอย่างไร ตอบว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขาตามที่กฎหมายรองรับให้ เมื่อเขาลาออกจะไปเรียกร้องไม่ได้
Facebook : กฎหมายแรงงาน