ทำสัญญาปีต่อปี เลิกจ้างได้ค่าชดเชยหรือไม่ ?
การทำสัญญาปีต่อปี เมื่อสัญญาสิ้นสุดถือเป็นการเลิกจ้าง เมื่อเป็นการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
ค่าชดเชย คือเงินที่จ่ายตอนเลิกจ้าง ส่วนคำว่าเลิกจ้างคืออะไรนั้น มาตรา 118 ได้เขียนอธิบายความหมายเอาไว้จับใจความสำคัญได้ คือ การเลิกจ้างจะต้องเป็นการกระทำหรือเหตุจากฝ่ายนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้าง
ซึ่งกรณีเลิกจ้างยังรวมถึงการที่มีการทำสัญญากำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างกันไว้แน่นอน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุด ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วย นายจ้างจะอ้างว่าไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้ เพราะกรณีนี้ถือว่านายจ้างได้บอกเลิกจ้างเอาไว้ตั้งแต่วันเซ็นต์สัญญาจ้างแล้ว เพราะในวันนั้นได้บอกถึงว่าที่จะเลิกจ้างเอาไว้ในสัญญาด้วยแล้ว
ดังนั้นเมื่อมีการเลิกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
คดีนี้นายจ้างทำสัญญาจ้างเป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างโครงการ 2 ฉบับ
ฉบับแรก เริ่มงานวันที่ 1 ตค. 2554 - 30 กย. 2555
ฉบับที่สอง เริ่มงานวันที่ 26 สค. 2555 - 25 สค. 2556
โดยเมื่อครบกำหนดแล้วนายจ้างไม่ได้จ้างทำงานต่อ กรณีดังกล่าวถือว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง ถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ตามความหมายในมาตรา 118 วรรคสองแล้ว
ข้อเท็จจริงปรากฎว่าในสัญญาจ้างทั้ง 2 ฉบับเป็นการจ้างให้ทำงานในโครงการที่แตกต่างกัน แต่สัญญาทั้ง 2 ฉบับมีลักษะเดียวกันและมีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จึงถือได้ว่าลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ข้อสังเกต
1) แม้สัญญาจะแยกเป็น 2 ฉบับ แต่กฎหมายมาตรา 20 ให้นำเอาระยะเวลาทุกฉบับมาต่อกัน
2) คดีนี้นายจ้างยังต่อสู้ประเด็นที่ว่าเป็นงานตามโครงการตามมาตรา 118 วรรคสาม ถึงวรรคท้าย ซึ่งถือเป็นงานตามโครงการจะเป็นข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชย แต่คำว่างานตามโครงการนั้น จะต้อง "มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน และมีการเลิกจ้างตามนั้น" แต่คดีนี้ เมื่อครบ 1 ปีตามสัญญาฉบับแรกแล้วยังคงมีการทำงานกันต่อไป จึงไม่ถือว่ามีการเลิกจ้างตามที่ตกลงกัน
3) นอกจากนั้น ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายใช้คำว่า "งานตามโครงการซึ่งไม่ใช่ปกติธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้าง" ส่วนนี้ทำให้เข้าใจผิดกันจำนวนมากว่าเมื่อนายจ้างให้ไปทำงานในโครงการก่อสร้างถนน หรือโครงการที่ไปรับจ้างจะทำให้งานนั้นเป็นงานตามโครงการ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ที่ถูกต้องคือต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่างานตามโครงการนั้น "ต้องไม่ใช่ปกติธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างด้วย" หมายความว่านายจ้างอาจไปร่วมทำโครงการอื่น เช่น ปกตินายจ้างทำกิจการก่อสร้าง ต่อมาได้ไปร่วมกับบริษัทด้านปิโตเคมี ทำโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน เช่นนี้ย่อมถือว่าการไปทำโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไม่ใช่ปกติธุรกิจของนายจ้างได้
Facebook : กฎหมายแรงงาน
แม้ทำงานให้บริษัท แต่ก็อาจไม่ใช่ลูกจ้าง
เมื่อไม่ใช่ลูกจ้างก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะเรียกร้องว่าต้องได้รับค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง หรือต้องได้รับค่าล่วงเวลา หรืออย่างแอดมินซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเล็ก ๆ มีลูกจ้างสิบกว่าคนได้ค่าจ้างเดือนละ ๕ พันบาท ก็จะอ้างว่าได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้
ต้องยอมรับว่าหาก Hr หรือนายจ้างรู้กฎหมายแรงงานก็สามารถนำไปปรับใช้อันทำให้ลดต้นทุนได้มาก
ผลของการเป็นลูกจ้างมีต้นทุนสูงกว่าการไม่เป็นลูกจ้าง ผลจากการนี้ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะไม่ผูกพันกันตามสัญญาจ้างแรงงาน และเลือกใช้วิธีการจ้างที่ปรึกษา หรือจ้าง outsource หรือจ้างทำของแทน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยคือคนทำงานอ้างว่าตนเป็นลูกจ้าง ส่วนบริษัทก็อ้างว่าไม่ใช่ลูกจ้าง
ซึ่งกฎหมายมีหลักการพิจารณาว่าในการจ้างงานนั้นคนทำงานต้องอยู่ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาหรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่าต้องปฎิบัติตามข้อบังคับในการทำงานหรือไม่
เคยมีคดีที่กรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาดในการทำงานของกรรมการรายนี้ไม่ปรากฎว่าต้องอยู่ภายใต้ระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงาน และแม้ว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานของบริษัทโดยต้องมาทำงานทุกวันก็ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาได้
นอกจากนี้ยังปรากฎว่ากรรมการรายนี้ยังเป็นผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท การทำงานจึงทำในฐานะผู้ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทที่ร่วมก่อตั้งมา แม้จะได้รับเงินเดือน แต่เมื่อการทำงานไม่ใช่ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานตาม ปพพ. มาตรา ๕๗๕
เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการบริษัท จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชย
ข้อสังเกต
แม้เป็นกรรมการบริษัท หรือผู้ก่อตั้งบริษัท หากอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาหรือต้องปฎิบัติตามข้อบังคับก็อาจเป็นลูกจ้างได้ สาระสำคัญอยู่ที่ว่าบริษัทมีอำนาจบังคับบัญชาหรือไม่
ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๔๘/๒๕๔๘
Facebook : กฎหมายแรงงาน
การประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย
หรือ ร.ป.ภ. ที่ทำงานกับนายจ้างที่ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยเท่านั้น
ที่จะต้องใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย 2558 หากไม่มีก็ผิดกฎหมายและอาจได้รับโทษ
เจตนารมณ์ของกฎหมายส่วนหนึ่งก็เพื่อให้อาชีพ ร.ป.ภ. มีมาตรฐานการประกอบอาชีพ
และมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะช่วยตำรวจ ฝ่ายปกครองในการรักษาความสงบของประชาชนสังคมและของบ้านเมือง
ส่วนที่นายจ้าง ที่จ้างลูกจ้างมาทำงาน ร.ป.ภ.เอง ไม่อยู่ภายใต้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
และ ร.ป.ภ.ที่ทำงานในองค์การทหารผ่านศึกก็ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายดังว่ามา
#เล็กๆน้อยบางประเด็นเกี่ยวกับ อาชีพ ร.ป.ภ.
Cr. ภาพ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา